การสำรวจเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย

          การสำรวจเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เป็นการศึกษาเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การศึกษา (2) อาชีพ/การจ้างงาน (3) การเป็นผู้นำ และ (4) การช่วยเหลือจากการถูกกระทำความรุนแรง โดยวัดเจตคติของประชาชนทั่วประเทศในส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร จำนวน 8,090 คน ซึ่งเป็นตัวอย่างประชากรอายุ 18-65 ปี โดยมีสัดส่วนชายและหญิงไล่เลี่ยกัน ผลการสำรวจโดยสรุป มีดังนี้
          เจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ 4 ด้าน
           ค่าเฉลี่ยคะแนนเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชายเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ 4 ด้าน อยู่ที่ 11.90 คะแนน จากคะแนนเต็ม 16 คะแนน แสดงว่า ประชาชนโดยทั่วไปมีเจตคติทางบวก/เจตคติที่ดีด้านความเสมอภาคหญิงชายในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระดับเจตคติทางบวกต่อประเด็นข้างต้นมากที่สุด (12.40 คะแนน) ตามด้วยภาคเหนือ (12.03 คะแนน) ภาคกลาง (11.98 คะแนน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (11.89 คะแนน) และภาคใต้ได้คะแนนต่ำสุด (11.40 คะแนน)

          เจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชายเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชาย ในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จำแนกตามรายด้าน ดังนี้

          (1) การศึกษา
                 คะแนนเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการศึกษา พบว่า มีระดับคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด 3.48 คะแนนจากคะแนนเต็ม 4 คะแนน โดยคะแนนเจตคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระดับสูงสุด (3.57 คะแนน) ตามด้วยภาคกลาง (3.50 คะแนน) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้คะแนนเท่ากับ (3.49 คะแนน) และภาคใต้ได้คะแนนต่ำสุด (3.37 คะแนน)

          (2) อาชีพ/การจ้างงาน
                 คะแนนเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านอาชีพ/การจ้างงาน พบว่า มีระดับคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดได้ 2.16 คะแนนจากคะแนนเต็ม 4 คะแนน โดยคะแนนเจตคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือมีระดับสูงสุด (2.26 คะแนน) ตามด้วยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2.23 คะแนน) ภาคกลาง (2.17 คะแนน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2.13 คะแนน) และภาคใต้ได้คะแนนต่ำสุด (2.03 คะแนน)

          (3) การเป็นผู้นำ
                 คะแนนเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการเป็นผู้นำ พบว่า มีระดับคะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับสามได้ 3.06 คะแนนจากคะแนนเต็ม 4 คะแนน โดยคะแนนเจตคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระดับสูงสุด (3.19 คะแนน) ตามด้วยภาคเหนือ (3.13 คะแนน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3.10 คะแนน) ภาคกลาง (3.02 คะแนน) และภาคใต้ได้คะแนนต่ำสุด (2.91 คะแนน)

          (4) การช่วยเหลือจากการถูกกระทำความรุนแรง
                 คะแนนเจตคติของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชายในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการช่วยเหลือจากการถูกกระทำความรุนแรง พบว่า มีระดับคะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับสอง ได้ 3.18 คะแนน โดยคะแนนเจตคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระดับสูงสุด (3.36 คะแนน) ตามด้วยภาคกลาง (3.25 คะแนน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3.16 คะแนน) ภาคเหนือ (3.13 คะแนน) และภาคใต้ได้คะแนนต่ำสุด (3.09 คะแนน)

          ทั้งนี้ ตัวแปรด้านภูมิภาคที่ตัวอย่างอาศัยอยู่มีอิทธิพลอย่างมากต่อระดับเจตคติเชิงบวกด้านความเสมอภาคหญิงชาย เช่นเดียวกันกับตัวแปรเพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และระดับรายได้ ส่วนตัวแปรเขตที่อยู่อาศัย (ในหรือนอกเขตเทศบาล) สถานภาพสมรส และอายุ ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าเฉลี่ยคะแนนเจตคติโดยรวม ของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชายแต่อย่างใด

          ผลการสำรวจชี้ว่า โดยทั่วไปประชาชนไทยมีเจตคติที่ดีด้านความเสมอภาคหญิงชายเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงชาย ในการได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยกรต่างๆ 4 ด้านข้างต้น กล่าวคือ ประชาชนมีเจตคติที่ดีในการให้สิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิง ได้เข้าเรียนในโรงเรียน/สถาบันทางด้านทหาร ซึ่งในปัจจุบันยังคงจำกัดการรับเข้าเรียนแก่ผู้ชายเท่านั้น และยังไม่ได้เปิดรับผู้หญิงเข้าเรียน ทั้งมีเจตคติที่ดีต่อการช่วยเหลือผู้หญิงจากการถูกกระทำความรุนแรง และต่อการให้โอกาส ผู้หญิงเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ของสังคม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากรในด้านอาชีพ/การจ้างงาน ซึ่งผู้หญิงยังคงถูกเลือกปฏิบัติทั้งในการจ้างงาน ความมั่นคงในการทำงาน/การประกอบอาชีพ ค่าตอบแทน ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อเทียบกับผู้ชายอันเนื่องมาจากสภาวะ “ความเป็นผู้หญิง”

          ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์/คะแนนสำหรับตัวชี้วัด 4.1 จำแนกตามร้อยละของประชาชนที่มีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับ ความเสมอภาคหญิงชาย ปรากฏว่า ประชาชนโดยทั่วไปมีเจตคติที่ดีด้านความเสมอภาคหญิงชาย อยู่ที่ร้อยละ 74.4 เท่ากับ 2.22 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ตามเกณฑ์การประเมินฯ โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเจตคติทีดีด้านความเสมอภาคหญิงชายสูงที่สุดที่ร้อยละ 77.55 (2.62 คะแนน) ตามด้วยประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือร้อยละ 75.2 (2.32 คะแนน) ภาคกลางร้อยละ 74.9 (2.26 คะแนน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 74.3 (2.22 คะแนน) และต่ำสุดภาคใต้ร้อยละ 71.2 (1.87 คะแนน)

          ผลของการสำรวจเจตคติครั้งนี้ มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า เจตคติที่ดีของประชาชนด้านความเสมอภาคหญิงชาย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระดับการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสังคม ความเสมอภาคหญิงชายที่เกี่ยวกับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการศึกษานำไปสู่โอกาส ในการได้รับการจ้างงานและประกอบอาชีพที่มั่นคงต่อชีวิตและรายได้ที่ตามมารวมทั้งโอกาสการขึ้นเป็นผู้นำและการช่วยเหลือจากการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกกระทำความรุนแรง

          ดาวน์โหลดเอกสารฉบับสมบูรณ์