<<  Back     

เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับที่ 10
 
จากการประเมินสถานการณ์การพัฒนาสตรีในด้านต่าง ๆ และการวิเคราะห์เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งที่เป็นปัจจัยด้านบวก และลบ เห็นว่า สภาพแวดล้อมของการดำเนินงานด้านสตรี น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย และการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรีในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้านสตรี คือ เจตคติของสังคมที่ตอกย้ำบทบาทดั้งเดิมของสตรี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ แก่สตรี การเลือกปฏิบัติต่อสตรี การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ความไม่มั่นคงในชีวิตและร่างกาย การคุ้มครองแรงงานสตรี และการนำเสนอภาพลักษณ์ของสตรีในเชิงลบในสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
การทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัญหา อุปสรรค และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย และการพิทักษ์ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี นำไปสู่การกำหนดเป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ต่อไป
เป้าประสงค์
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
คนในสังคมมีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีเจตคติที่เอื้อต่อการส่งเสริมบทบาทของหญิง และชาย ในการร่วมพัฒนาประเทศ ทั้งหญิงและชายได้รับความเป็นธรรม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สตรีได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพลังในตน และมีส่วนร่วมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองอย่างเต็มที่ และเต็มศักยภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้สตรี ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
เพื่อให้สตรีได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี
เป้าหมาย
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว มีกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านสตรีไปสู่ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย เมื่อสิ้นแผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับที่ 10 ในปี 2554 ดังนี้
เด็ก เยาวชน สตรี  หญิงและชาย เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ และ ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
สัดส่วนของสตรีในภาคการเมืองและการบริหารเพิ่มขึ้น
สตรีกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วิธีการและการให้บริการสุขภาพอนามัยมากขึ้น และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จัดไว้ โดยเฉพาะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
อัตราการใช้ความรุนแรงต่อสตรีลดลง และสตรีที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงบริการที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง
สตรีมีส่วนร่วมและรับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น