พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มิถุนายน 2551
ความเป็นมา
เดิมการใช้คำนำหน้านามของหญิงไทย ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้
คำนำหน้านามสตรี พ.ศ. 2460 โดยผู้หญิงถ้ายังไม่มีสามีให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” และหากมีสามีแล้วให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” ตลอดไปทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการประกอบอาชีพ การหางานทำ ผู้ที่ใช้คำนำหน้าว่า “นาง” มักจะถูกปฏิเสธการจ้างงาน เนื่องจากมีสามีมาแล้ว เรื่องการทำนิติกรรมต่างๆ ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ในขณะที่สามีไม่ต้องรับความยินยอมจากภรรยา หรือในเรื่องการศึกษาของบุตร เป็นต้น ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หรืออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี และต้องถือปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศกระทำมิได้ ก็ตาม
ในปี 2550 ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง
พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเสนอโดยรองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับคณะและได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 4 มิถุนายน 2551)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ
2. และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ สรุปได้ดังนี้
1. เป็นกฎหมายที่ให้ทางเลือกกับผู้หญิงที่สมรส ในการเลือกใช้คำนำหน้านาม ตามความสมัครใจ ซึ่งจะสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล
2. หญิงที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้สมรส ให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
3. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้วจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ก็ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
4. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว ต่อมาการสมรสสิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านาม
ว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ก็ได้ตามความสมัครใจโดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศและ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฯ
รายละเอียดเพิ่มเติม