ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 -2564
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 - 2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาสตรีไว้ว่า "สร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติ สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคงปลอดภัย ร่วมสร้างชาตินำสมัย" และได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: ปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมในประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย (Paradigm Shift Measures)
เพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัยให้มีเจตคติที่เคารพเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ซึ่งจะนำไปสู่ความเสมอภาค ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ชุมชนและครอบครัว เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในมิติต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพ มีศักดิ์ศรีและทัดเทียมกัน ซึ่งปัญหาเจตคติ ค่านิยม มีอิทธิพลต่อ การกระทำ พฤติกรรม การตัดสินใจ และการกำหนดกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณแผ่นดิน เป็นปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ และการขจัดการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ แผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับต่างๆ ให้ความสำคัญในการมุ่งปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมและค่านิยม เพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ประเด็นท้าทายที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมโดยรวมเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นทั้งอุปสรรคต่อการพัฒนาสตรี และจะเป็นกุญแจสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จในการพัฒนาสตรี และสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในอนาคต และจะทำให้การดำเนินการพัฒนาสตรีและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากยังไม่สามารถแก้ไขและก้าวข้ามสู่สังคมที่มีเจตคติที่ดีขึ้น ก็จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาสตรีทั้งมวล ยุทธศาสตร์นี้กำหนดแนวทางการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ คนในสังคมไทยเข้าใจถึงสิทธิความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเจตคติที่เป็นธรรม ปฏิบัติและยอมรับต่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของสตรีและบุรุษ
ยุทธศาสตร์ที่ 2: เสริมพลัง เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่มและทุกระดับ (Empowerment Measures)
ผู้หญิงเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในภาวะที่โลกมีการแข่งขันสูง ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงพลังปัญญา ศักยภาพ ทักษะ และกำลังแรงงานจากผู้หญิงอย่างเต็มศักยภาพ หากประเทศไทยต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการรักษาระดับการพัฒนาให้ยั่งยืน การที่ประชากรผู้หญิงส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาด้านพลังปัญญา ทักษะ และมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ก็จะทำให้ประเทศขาดพลังส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ยุทธศาสตร์การ เสริมพลังทั้งทางปัญญาและร่างกาย เพื่อเพิ่มพลังแก่สตรีทุกกลุ่ม และทุกระดับในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จต่อเป้าหมายที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ด้วย ที่เน้นการกำหนดแนวทางเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพ เพิ่มบทบาทสตรีในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และเสริมสร้างสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของสตรีในสังคมไทยทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาวะลำบาก หรือกลุ่มด้อยโอกาส โดยเน้นให้สตรีมีสุขภาพ (กายและจิต) สุขภาวะที่ดี สตรีสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน มีระดับการศึกษาและความรู้ที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยสามารถเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเข้าถึงข้อมูลความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างมีศักยภาพ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมในการนำการพัฒนาประเทศให้นำโลกทันสมัย
ยุทธศาสตร์ที่ 3: พัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิผลและเสมอภาค (Enabling Condition Measures)
เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเร่งพัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาสตรีและการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสตรีในสังคมไทยทุกกลุ่มทุกวัย เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข มั่นคงปลอดภัย สตรีอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคมที่อบอุ่นและมั่นคงปลอดภัย ปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ลดหรือขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และป้องกันและแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเป้าหมายสตรีที่ด้อยโอกาสต่างๆ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ และการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสและบทบาทของสตรีต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเกิดจากการที่มีการกำหนดในกฎหมาย มาตรการและเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ ในระดับสากล การที่องค์การสหประชาชาติ ได้ลงทุนลงแรงจัดกิจกรรมรณรงค์และการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกให้ความสนใจในการพัฒนาสตรีและการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ในระดับประเทศนั้นได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาสตรี ซึ่งเกิดจากการที่ในอดีตประเทศไทยได้มีการกำหนดมาตรการ กำหนดและแก้ไขหรือยกเลิกกฎระเบียบ กฎหมาย และเงื่อนไขในการฏิบัติงาน เช่น การกำหนดหลักการสำคัญๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม งานด้านการพัฒนาสตรียังไม่บรรลุเป้าหมายและมาตรฐานที่กำหนดไว้ในระดับสากลหลายประการ ยังจำเป็นต้องเดินหน้าในการกำหนดหรือแก้ไขกฎหมาย การกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาสตรีและการสร้างสังคมเสมอภาคบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
ยุทธศาสตร์ที่ 4: กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ขจัดปัจจัยเสี่ยง ป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือและเยียวยา (Protective and Corrective Measures)
เน้นการพัฒนาปรับปรุงมาตรการ กฎหมาย กลไก และกระบวนการที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรี เพื่อนำไปสู่การมีสังคมที่เท่าเทียมกัน สตรีมีโอกาสและมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง อย่างเต็มศักยภาพและเท่าเทียมกัน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความยากจนของกลุ่มเป้าหมายสตรีที่ด้อยโอกาส รวมทั้งสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่สงบสุข มั่นคงปลอดภัย สตรีอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคมที่อบอุ่น มั่นคงและปลอดภัย ปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ยุทธศาสตร์นี้กำหนดแนวทางการพัฒนาสตรีที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ คือ ความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ยุทธศาสตร์นี้กำหนดแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างครบวงจร เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนมาก ในการดำเนินการจึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสหวิชาชีพและดำเนินการอย่างมืออาชีพ นำไปสู่การป้องกัน เยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ให้เกิดซ้ำหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความเข้มแข็งของกลไก และกระบวนการพัฒนาสตรี (Strengthen WID Mechanism and Processes)
ให้ความสำคัญในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลไกทุกระดับ และเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาสตรีให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เพื่อเป็นกลไกและแนวทางหลักในการพัฒนาสตรีในทุกระดับ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนระดับชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ รวมทั้งพัฒนาสตรีในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ ให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอาเซียนและในโลก รวมถึงเตรียมพร้อมเพื่อรองรับ หรือป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับผู้หญิงในมิติต่างๆ จากการที่ประเทศได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน กลไกที่ขับเคลื่อนการพัฒนามีความสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของสตรี ประเทศไทยได้กำหนดกลไกระดับต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสตรี สร้างความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยมีการจัดตั้งกลไกการดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านการพัฒนาสตรี การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างเพศ ๓ ระดับ คือ ๑) กลไกทางรัฐสภา ๒) กลไกระดับชาติ ๓) กลไกส่วนกลาง ส่วนจังหวัด และองค์กรเครือข่าย แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกลไกต่างๆ แต่ปัญหาจากความอ่อนแอขององค์กรและกลไกการพัฒนาสตรีระดับต่างๆ โดยองค์กรและกลไกพัฒนาสตรีที่มีบทบาทในการผลักดันการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนาสตรีทุกระดับ ยังขาดศักยภาพ ความตั้งใจ ค่านิยมหลัก และความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะความรู้และทักษะในการพัฒนายุทธศาสตร์ การจูงใจ และการต่อรองอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างพลังอำนาจในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสตรีไทย