<<  Back     
เครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค (Women Leaders’ Network – WLN)
 

          เครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค (APEC Women Leaders’ Network – WLN) เป็นการรวมกลุ่มของผู้นำสตรีจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นตัวแทนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ จากกลุ่มสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ก่อตั้งและมีการประชุมเป็นครั้งแรกที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2539 (1996) เครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปคมีการจัดประชุมกันปีละครั้ง โดยเขตเศรษฐกิจสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่าย ส่งเสริมบทบาทและประเด็นหญิงชาย รวมทั้งบทบาททางเศรษฐกิจของสตรีในเอเปค และผลักดันข้อเสนอแนะจากการประชุมเข้าสู่เวทีเอเปค โดยเสนอผลต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลการประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเอเปคต่อไป ถึงแม้ WLN จะยังมีสถานะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการให้คุณูปการด้านมุมมอง และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้นำสตรีเพื่อประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเปค ผลักดันการบูรณาการประเด็นมิติหญิงชายเข้าสู่เวทีเอเปคในระดับนโยบาย และผลักดันให้เกิดการประชุมระดับรัฐมนตรี เอเปคด้านสตรี ครั้งที่ 1 ในปี 2541 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ และครั้งที่ 2 ในปี 2545 ณ ประเทศเม็คซิโก
          การประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ได้จัดคู่ขนานไปกับการประชุมระดับรัฐมนตรี เอเปค ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2539 (1996) เป็นต้นมา ได้จัดขึ้นมาแล้ว 11 ครั้ง ณ ประเทศฟิลิปปินส์ (1996) แคนาดา (1997) มาเลเซีย (1998) นิวซีแลนด์ (1999) บูรไน (2000) จีน (2001) เม็กซิโก (2002) ไทย (2003) ชิลี (2004) เกาหลี (2005) และเวียดนาม (2006) รายละเอียดสาระโดยสังเขปของการประชุมแต่ละครั้ง มีดังนี้

ปี
สถานที่จัดประชุม
สาระสำคัญของการประชุม
1996
กรุงมะนิลา
ฟิลิปปินส์
การก่อตั้งเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค เพื่อเป็นกลไกเชิงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความตระหนักในประเด็นด้านมิติหญิงชายในเอเปค
1997
กรุงออตตาวา
แคนาดา
เน้นการเข้าถึงของสตรีในด้านการตลาด เทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเงิน ข้อมูลสารสนเทศ
1998
กรุงกัวลาลัมเปอร์
มาเลเซีย
เน้นการลดผลกระทบของวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมต่อสตรีและส่งเสริมบทบาทของสตรีในเอเปค
1999
กรุงเวลลิงตัน
นิวซีแลนด์
ให้เอเปครับดำเนินการตามกรอบแผนงานการบูรณาการบทบาทหญิงชายในเอเปค (Framework for the Integration of Women in APEC) ซึ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ การวิเคราะห์ด้านบทบาทหญิงชาย การจัดเก็บและการใช้ข้อมูลแยกเพศ การมีส่วนร่วมของสตรีในเอเปค และการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ
2000
กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน
บรูไนดารุสซาลาม
ส่งเสริมการเข้าถึง และโอกาสที่จะได้รับการศึกษา และการฝึกอบรมของสตรีด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวสตรี สตรีชายขอบ สตรีในชนบทและสตรีที่อยู่ในภาวะเสี่ยง สร้างกลไก และแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผู้ประกอบการเป็นสตรี
2001
กรุงปักกิ่ง
จีน
ความท้าทายและความเสี่ยงของสตรีในกระบวนการเศรษฐกิจในยุค
โลกาภิวัตน์ โดยอภิปรายในหัวข้อเรื่อง ผู้ประกอบการสตรีและตลาดโลก การสร้างพันธมิตรระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผู้ประกอบการเป็นสตรี บทบาทของสตรีในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบูรณาการบทบาทหญิงชายในทุกกระบวนการและกิจกรรมของเอเปค
2002
เมืองอคาพุลโก
เม็กซิโก
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยมีมุมมองด้านบทบาทหญิงชาย โดยมีการอภิปรายเรื่องแนวโน้มโลกาภิวัตน์ และการเปิดเสรีทางการค้าแก่สตรี วิสาหกิจขนาดเล็ก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความรับผิดชอบของรัฐบาล และประกอบการธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
2003
จังหวัดเชียงใหม่
ไทย
สตรีนำการเปลี่ยนแปลง : หุ้นส่วนเพื่อบทบาทหญิงชายและการพัฒนา โดยมีการอภิปรายในหัวข้อการสร้าง การใช้ร่วมกัน และการจัดการความรู้จากการเป็นหุ้นส่วน การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์เพื่อสตรี และ
ผู้ประกอบการวิสาหกิจสตรี
2004
ลา เซเรนา
ชิลี
ผู้นำสตรี : การหลอมรวมความหลากหลาย และการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา 9 ปี ของ WLN โดยมีการอภิปรายในเรื่อง การประเมินผลการดำเนินงาน 9 ปีที่ผ่านมาของ WLN การเรียนรู้ความหลากหลาย
การแลกเปลี่ยนความหลากหลาย และพันธสัญญาเพื่อการพัฒนา
2005
แดกู
เกาหลี
การสร้างความมั่งคั่งให้แก่วิสาหกิจสตรีด้วยนวัตกรรม: วิสัยทัศน์ใหม่เพื่อ
ผู้ประกอบการสตรี โดยมีการอภิปรายในเรื่องนโยบายและโครงการด้าน
สินเชื่อขนาดเล็กเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจที่สตรีเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมความมั่งคั่งร่วมกันโดยการเสริมสร้างผู้ประกอบการสตรีรุ่นใหม่ ส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร:โลกดิจิตอลสำหรับผู้ประกอบการสตรี และส่งเสริมการค้าด้วยระบบเครือข่าย
2006
ฮานอย
เวียดนาม
ก้าวสู่ชุมชนพลวัตร - เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสตรีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะมีการอภิปรายในเรื่อง ผู้ประกอบการสตรีกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเป็นพลวัตร ผู้ประกอบการสตรีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปคก้าวสู่ ทศวรรษที่ 2 : แนวทางสู่ก้าวต่อไป
2007
พอร์ต ดักลาส
ออสเตรเลีย
สตรีเอเปคในธุรกิจปี 2007 : คุณูปการของสตรีต่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมีหัวข้อย่อยในการประชุม 5 หัวข้อ ได้แก่ สตรีกับธุรกิจ สตรีกับการเสริมสร้างศักยภาพ สตรีกับความท้าทายในระดับโลก สตรีกับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการติดต่อสื่อสาร และสตรีกับการค้า
2008
เปรู
สตรีผู้ประสบความสำเร็จ และเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยมีหัวข้อย่อยของการประชุม 6 หัวข้อ ได้แก่ กลไกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาด การบริหารจัดการนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพของสตรีชนบทเพื่อการส่งออก การค้าที่เป็นธรรม และงานที่มีศักดิ์ศรี การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ความรับผิดชอบทางสังคมของผู้ประกอบการ : จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการแข่งขันได้อย่างไร (Corporate Social Responsibility: How to Use It as a Tool of Competitiveness)
2009
สิงค์โปร์
(ยังไม่กำหนด)
2010
ญี่ปุ่น
(ยังไม่กำหนด)
2011
สหรัฐอเมริกา
(ยังไม่กำหนด)
2012
รัสเซีย
(ยังไม่กำหนด)

ประเทศไทย กับการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค

          เขตเศรษฐกิจไทย เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ร่วมก่อตั้งเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ซึ่งประกอบด้วย 6 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ แคนาดา อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยมีเวียดนามเป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้นำสตรีจากเขตเศรษฐกิจไทยได้เข้าร่วมการประชุมของผู้นำสตรีอาวุโสจากภาครัฐและภาคเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนิเซีย และได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2539 ณ ประเทศฟิลิปปินส์
          เขตเศรษฐกิจไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุม WLN ครั้งที่ 8 ปี 2546 โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ไดให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นศูนย์ประสานงาน WLN ในประเทศไทย
          สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ครั้งที่ 9 ณ เมืองลา เซเรนา สาธารณรัฐชิลี ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2548 เพื่อรายงานผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ครั้งที่ 8 ในประเทศไทย และรับรองผลการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในเอเปค ครั้งที่ 9 รวมทั้งได้มีการจัดการประชุมชี้แจงเผยแพร่ผลการประชุมดังกล่าว เพื่อผลักดันไปสู่การปฏิบัติในประเทศไทย รวมทั้งได้เข้าร่วมการประชุม WLN ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2548 ณ เมืองแดกู สาธารณรัฐเกาหลี และการประชุม WLN ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน 2549 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และได้ประสานหน่วยงาน / องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักและหัวข้อรองของการประชุม เพื่อเดินทางไปร่วมการประชุม ตลอดจนร่วมอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ โดยขอความร่วมมือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากต้นสังกัด
          สำหรับ การประชุม WLN ครั้งที่ 13 นั้น ทางคณะผู้ประสานงานการจัดการประชุม WLN ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการประชุม ได้กำหนดจะจัดการประชุมระหว่างวันที่ 12- 14 พฤษภาคม 2551 โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่
          หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่ สตรีผู้ประสบความสำเร็จ และเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ (Successful Women, Successful Economies) โดยมีหัวข้อย่อยของการประชุม 6 หัวข้อ ดังนี้
          1) กลไกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาด (Mechanism to promote the access to market)
          2) การบริหารจัดการนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน (Managing innovation and competitiveness)
          3) ศักยภาพของสตรีชนบทเพื่อการส่งออก (Potentiality of Rural Women for Export)
          4) การค้าที่เป็นธรรม และงานที่มีศักดิ์ศรี (Fair Trade, Decent Work)
          5) การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Business Facilitation)
          6) ความรับผิดชอบทางสังคมของผู้ประกอบการ : จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการแข่งขันได้อย่างไร (Corporate Social Responsibility: How to Use It as a Tool of Competitiveness)


 

 

       
       
       
       
       
       
         
   
   
   
 
   
   
   
   
   
   
   
 
 

<<  Back >>