สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและะความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดทำแแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) โดยยึดหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งได้บัญญัติหลักสำคัญเพื่อประกันศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์และสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาสังคมไทยสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย พยายามลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกัน เน้นการสร้างศักยภาพและโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาประะเทศอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสตรี
แผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ได้กำหนดเป้าประสงค์ที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงและะชาย โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักไว้ 3 ประการ ดังนี้
(1) เพื่อพัฒนาหญิงชายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย
(2) เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ
(3) เพื่อให้สตรีได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ
ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาสตรีฯ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จึงได้ศึกษาผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ ระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๐-๒๕๕๒ (ระยะครึ่งแผนพัฒนาสตรีฯ) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานระดับกระทรวงและกรม เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ และติดตามประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ และผลสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนของหน่วยงานต่างๆ และจัดทำฐานข้อมูลผลการดำเนินงานตามแผนฯ เพื่อใช้ในการประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ และกำหนดทิศทางเพื่อใช้ในการวางแผนในการจัดทำแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) เป็นผลมาจากโครงการศึกษาผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ ตามยุทธศาสตร์หลักของแผนพัฒนาสตรีฯ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างเจตคติด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้เด็ก เยาวชน หญิง และชาย มีเจตคติบนพื้นฐานแนวทางความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย อันจะนำไปสู่ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และประเทศชาติพัฒนา
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมองและการบริหาร ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง และการบริหาร รวมทั้งการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมสุขภาวะและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์สตรี ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้สตรีมีสุขภาพกาย สุขภาพจิต สมบูรณ์ พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้สตรีดำรงชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัวต่อความรุนแรง และได้รับการพิทักษ์ และคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกาย
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรี ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้สตรีทุกคนได้รับโอกาสและการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในการมีส่วนร่วมและรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและมีหลักประกันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง
โดยโครงการศึกษาผลการดำเนินงานฯ ได้เลือกศึกษาหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนรับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ ในแผนพัฒนาสตรีฯ และแผนปฏิบัติฯ จำนวน 10 หน่วยงาน ดังนี้
(1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(3) กระทรวงมหาดไทย
(4) กระทรวงแรงงาน
(5) กระทรวงยุติธรรม
(6) กระทรวงวัฒนธรรม
(7) กระทรวงศึกษาธิการ
(8) กระทรวงสาธารณสุข
(9) กระทรวงอุตสาหกรรม
(10) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ซึ่งผลจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีฯ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2550 - 2552 ของกระทรวง/กรม จำนวน 10 แห่งที่เลือกศึกษา พบว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และผลของการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม โดยผลจากการวิเคราะห์เนื้อหารายละเอียดของการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ พบว่าข้อมูลโครงการส่วนใหญ่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีตามที่ระบุไว้ในแผน ในขณะที่ได้พบข้อมูลการดำเนินโครงการที่เป็นโครงการที่ริเริ่มใหม่ หรือเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทพันธกิจและความรับผิดชอบของหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน
ฐานข้อมูลผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรี
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
(พ.ศ.2550-2554)