เจตคติที่เปลี่ยนแปลง |
จากระบบความคิด ความเชื่อค่านิยมของสังคมไทยดั้งเดิม ที่คาดหวังบทบาทของหญิงชาย จากกายวิภาควิทยา ที่ผู้ชายมีสรีระพละกำลังที่เข้มแข็งกว่าผู้หญิง จึงเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง ผู้หญิงและผู้ชาย ในอดีตโดยเฉพาะในสมัย ที่ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง และปกป้องพวกพ้องของตนรวมทั้งนักรบในอดีตล้วนแต่เป็นผู้ชาย และเป็นชนชั้นสูง ชั้นปกครอง ประกอบกับนักคิด และนักประดิษฐ์ต่าง ๆ จึงเป็นอำนาจของผู้ชายที่จะได้รับก่อน เช่น การศึกษา การรับราชการ การพบปะสังสรรค์ ในขณะที่ผู้หญิงซึมซับค่านิยมว่าผู้ชายเป็นชนชั้นปกครอง ผู้หญิงจึงมีหน้าที่เพียงดูแลบ้าน และการปรนนิบัติสามีต่าง ๆ และยอมรับการเป็น เครื่องมือช่วยเชิดชูสนับสนุน หรือนำทางให้ผู้ชายไปสู่การมีชื่อเสียงเกียรติยศและความสำเร็จทั้งปวง สำหรับผู้ชายในสังคมไทย ปัจจุบันยังมีความคิด และค่านิยม ที่มองว่าผู้หญิงเป็นเรื่องของวัตถุทางเพศ (Sex Object) มากกว่าบทบาท ที่เท่าเทียมกันทางสังคม (Gender) |
|
|
จากการพัฒนาสตรีในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2515 เป็นต้นมา ส่งผลให้สตรีเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม และการ พัฒนาประเทศ ทำให้เจตคติของสังคมไทยที่เกี่ยวกับสตรีเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ดังนี้ |
1. การศึกษา |
สตรีมีโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งได้รับโอการในการเข้ารั การศึกษาและฝึกอบรม ในวิชาชีพต่าง ๆ นอกจากนี้สตรียังมีโอกาสในการเลือกเรียนสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น การได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นของสตรี ได้ทำให้สตรีไทยได้ตระหนักในการดูแลตนเอง และตระหนักถึงข้อจำกัด ของความเสมอภาคด้วย |
|
2. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ |
สังคมไทยปัจจุบันสตรีไทยได้เข้าสู่ระบบงานมากขึ้นและมีโอกาสในการเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายสาขา
มากขึ้น
ซึ่งแตกต่างไปจากในอดีต ที่สตรีจะมีอาชีพจำกัดเฉพาะบางสาขา ที่สังคมไทยดั้งเดิมเห็นว่า เหมาะสม กับความเป็นผู้หญิง |
อย่างไรก็ตามยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง ในด้านค่าจ้างแรงงาน เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนแรงงาน ทั้งชายและหญิง ที่พบว่าสตรียังคงได้รับค่าจ้างแรงงาน ในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ชายอยู่ทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นประเด็น ที่ต้องดำเนินการต่อไป |
|
3. การมีส่วนร่วมในการบริหาร |
ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าสตรีได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารราชการมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกระดับชั้น และทุกสาขา วิชาอาชีพ ทั้งข้าราชการเพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ทหาร การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วม ทางการเมืองทั้งระดับ ประเทศและระดับ ท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้สตรีได้แสดงศักยภาพมากขึ้น |
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของทั้งชาและหญิงที่อยู่ในองค์กรต่าง ๆ แล้ว พบว่าสตรียังคงก้าวขึ้นสู่ระดับการตัดสินใจ และการบริหารน้อยมาก
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากยังมีความเชื่อ หรืออคติว่าผู้ชายมีการตัดสินใจที่ดีกว่าผู้หญิงยังอยู่ |
4. การพัฒนากลไกระดับชาติด้านสตรี |
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 เห็นชอบให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม มอบหมายผู้บริหาร ระดับ รองปลัดกระทรวง หรือรองอธิบดีขึ้นไป จำนวน 1 คน ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาท หญิงชาย (Chief Gender Equality Officer - CGEO) ในหน่วยงาน และให้ทุกกระทรวง กรม มอบหมายหน่วยงาน ระดับสำนัก/กอง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาค ระหว่างหญิงชายในหน่วยงาน และจัดทำแผนแม่บท การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในแผนงาน/โครงการ ของหน่วยงานจำนวน 129 ส่วนราชการ (125 กรม 4 องค์กรอิสระ) ได้กำหนดโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ตามมติ คณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งถือว่าการสร้างศักยภาพ หรือการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในด้านการพัฒนากลไก (การแต่งตั้ง CGEO/Gender Focal Point-GFP) ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง |
แต่การบูรณาการมิติหญิงชายกับภารกิจของหน่วยงาน เพื่อส่งผ่านนโยบายลงสู่กลุ่มประชาชน เป้าหมายให้ครอบคลุม ยังต้องส่งเสริม สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันประเด็นความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและรับรู้ พร้อมทั้งสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมใหม่ที่ให้ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เป็นหลักในการบริหารและดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ของสังคม โดยมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ และเหมาะสมเพื่อกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ และมาตรการที่ได้รับ |
5. การมีส่วนร่วมในชีวิตครอบครัว |
ปัจจุบันสตรีมีอิสระในการเลือกวิถีชีวิตในครอบครัวมากขึ้น สตรีไทยมีโอกาสในการเลือกการมีคู่ครองด้วยตนเอง การเลือกจำนวนการมีบุตร การทำหน้าที่และบทบาทของพ่อและแม่ที่ปัจจุบันผู้ชาย ได้เริ่มมีบทบาทในการทำหน้าที่ดูแล ครอบครัวมากขึ้น ทั้งเรื่องการดูแลบุตร ภาระงานบ้าน |
|