สตรีกับเศรษฐกิจและแรงงาน
           1. อาชีพและรายได้  
           สถานการณ์ของสตรีในปัจจุบันเป็นผลมาจากการส่งเสริม  และพัฒนาสตรี ในรอบ 11 ปี (พ.ศ. 2538-2549) ประเทศไทย ได้ดำเนินการพัฒนาสตร มาอย่างต่อเนื่องมีผลให้สตรีได้เข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น และมีโอกาสในการเลือกประกอบอาชีพได้ หลากหลายสาขามากขึ้น ซึ่งแตกต่าง ไปจากในอดีต ที่สตรีจะมี อาชีพจำกัดเฉพาะบางสาขา ที่สังคมไทยดั้งเดิมเห็นว่า เหมาะสม กับ ความเป็นผู้หญิง การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ: มกราคม 2549)พบว่า มีแรงงานสตรี ร้อยละ 45.5 ของแรงงานในระบบทั้งหมด โดยในภาคเกษตรกรรมมีแรงงานสตรีร้อยละ 42.6 ของแรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงาน นอกภาคเกษตรกรรม เป็นสตรี ร้อยละ 47.2 ซึ่งแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมนี้ มีสตรีเป็นแรงงานสำคัญในด้านการบริการ (โรงแรม และภัตตาคาร) ร้อยละ 61.8 ด้านการศึกษาร้อยละ 59.3 ด้านการผลิตถึงร้อยละ 54.3 การบริหาร ราชการแผ่นดินและการประกัน สังคมร้อยละ 33.0
           จากการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มต่าง ๆ พบว่าสตรีได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตน เป็นอย่างมาก เช่น การตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในหมู่บ้านตำบลของชุมชนในท้องถิ่น พบว่าสตรี มีบทบาทสำคัญต่อการบริหาร และพัฒน สหกรณ์ออมทรัพย์ นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้เสริมสตรีไทย นับเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในะระบบ เศรษฐกิจชุมชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา สตรีมีบทบาทอย่างสำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ระดับชุมชนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มสตรี หรือผู้ประกอบการสตรีขนาดเล็ก โดยเฉพาะ OTOP เป็นตัวจักร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ในช่วงที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ประเภทธุรกิจที่กลุ่มสตรีมีความชำนาญ คือ งานไหม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ประดิษฐ์ดอกไม้ งานไม้ เครื่องจักรสาน ร่ม อาหารทะเลแปรรูป และงานเจียรนัยพลอย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุน การฝึกอาชีพสตรีอย่างต่อเนื่อง ในอดีตการอบรมอาชีพจะเป็นอาชีพ ที่สตรีนิยมตามธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม ซึ่งระยะต่อมาการฝึกอบรมอาชีพสตรี ได้คำนึงถึงการฝึกอาชีพอื่น ๆ ให้กับ สตรีเพิ่มขึ้น เช่น ช่างเชื่อม งานในสำนักงาน ช่างอิเล็คโทรนิค การเจียรนัยพลอย ฯลฯ เป็นการเปิดโอกาส และเป็น ทางเลือกในการประกอบอาชีพตามศักยภาพให้สตรีมากขึ้น ส่งผลให้สตรีมีการงานมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สตรีในปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 65.4 เป็นร้อยละ 80.0 ของ สัดส่วนที่เปรียบเทียบกับรายได้ผู้ชาย (รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ)
           จากตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการให้การอบรมการประกอบธุรกิจ SME ได้แดสงให้เห็นว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วม ในกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมในสัดส่วนที่สูงกว่าขาย
           2. สถานภาพการทำงาน
           สำหรับสถานภาพการทำงานของสตรี เมื่อเปรียบเทียบกับชายพบว่า สตรีมีสถานภาพในการทำงานดีขึ้นทั้งด้านค่าจ้าง แรงงาน สวัสดิภาพและการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นผลให้สตรีมีโอกาสและความเสมอภาค ในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
           มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
           มาตรา 86 รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็ก และแรงงานหญิง จัดระบบงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม
           นอกจากนี้ จากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน โดยครอบคลุมถึง แรงงานสตรีทั้งหมดในหลายด้าน โดยเฉพาะในมาตราดังต่อไปนี้
           มาตรา 15 กำหนดให้แรงงานชายและหญิง จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน เว้นแต่ลักษณะ หรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้
           มาตรา 16 ห้ามมิให้นายจ้าง หรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างที่เป็นหญิงหรือเด็ก
           มาตรา 53 และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน โดยกำหนดว่า ในกรณีที่ งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวและปริมาณเท่ากัน ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา ในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นเป็นชายหรือเป็นหญิง
           มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงในวันลา เพื่อคลอดบุตรเท่ากับ ค่าจ้างในวัน ทำงาน ตลอด ระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน เจตนารมณ์จะคุ้มครองรายได้ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ในวันลา เพื่อคลอดบุตร (จ่ายไม่เกิน 45 วัน) ซึ่งลูกจ้าง จะได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา เพื่อการตามข้อกฎหมาย ดังกล่าว สำหรับอัตราค่าจ้างที่นายจ้างตัดจ่ายให้กับลูกจ้างในวันลาประเภทต่าง ๆ คืออัตราเดียวกันกับค่าจ้าง ในวันที่คนปกติซึ่ง หมายถึง เท่ากับค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาของการทำงาน
           สำหรับสถานภาพการทำงานของสตรีในปัจจุบัน สตรีไทยมีสถานภาพการทำงานโดยรวมดีขึ้น โดยเป็น ลูกจ้างรัฐบาล ร้อยละ 44.67 ลูกจ้างเอกชนร้อยละ 43.24 มีสถานภาพเป็นนายจ้างทั้งในภาคเกษตร และนอกภาค การเกษตรร้อยละ 43.94 ทำงานส่วนตัวร้อยละ 37.71 ทำงานให้ครอบครัว โดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 64.39 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ : สำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2548)
           ถึงแม้ว่าสถานภาพการทำงานของสตรีจะดีขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสตรีถึงร้อยละ 64.39 ยังคงทำงานในครัวเรือนที่ไม่มีค่าตอบแทน และได้รับการดูแลคุ้มครอง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาให้สตรีที่ทำงานในกลุ่มนี้ถูกนำมาคิดเป็นมูลค่า ของการทำงานด้วย เพื่อนำมาคิดเป็นรายได้มวลรวมของประเทศต่อไป
           3. ค่าจ้างแรงงาน
           อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสตรีไทยมีโอกาสในการจ้างงาน และมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่เมื่อ พิจารณาถึงค่าจ้างระหว่างหญิง และชายแล้ว พบว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนของลูกจ้าง นอกภาคการเกษตรระหว่างหญิง และชายมีความแตกต่าง และมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ จากตารางแสดงจำนวนผู้ประกันตน จำแนกตามค่าจ้างและเพศของสำนักงานประกันสังคม (2548) พบว่า ลูกจ้างชายมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า ลูกจ้างสตรี โดยเฉพาะในช่วง รายได้สูงกว่าหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป สตรีมีจำนวนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
           อย่างไรก็ตามความแตกต่างของรายได้ของทั้งลูกจ้างชายและหญิงค่อย ๆ ลงลดลงเป็นลำดับ จากปี 2541 ค่าจ้างเฉลี่ย ต่อเดือนของชายและหญิงมีความแตกต่างเฉลี่ยร้อยละ 12.37 และลดลงเหลือร้อยละ 4.71 ในปี 2549
           4. แรงงานสตรีนอกระบบ
           จากการสำรวจการทำงานของประชากรปี 2548 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ยังมีสตรีอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นแรงงานสำคัญ แต่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งยังเข้าไม่ถึง สวัสดิการและการได้รับความคุ้มครอง จากพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2540 ในจำนวน แรงงานนอกระบบทั้งหมด มีสตรีเป็นแรงงานนอกระบบถึงร้อยละ 46.8 โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ในการเป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล เป็นสตรีถึงร้อยละ 92.9 งานบริการและพนักงานในร้านค้าและตลาด ร้อยละ 68.47 การผลิตอื่น ๆ ร้อยละ 57.7 การเกษตรกรรม ร้อยละ 45.3 นอกจากนี้การรับงานมาทำที่บ้านจัดว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบอีกประเภทหนึ่ง ที่มีแรงงานเป็นสตรีจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานสถิติได้จัดทำโครงการสำรวจการรับงาน มาทำที่บ้าน พศ.2548 พบว่ามีผู้รับงานมาทำที่บ้านทั้งหมด 549,803 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิง ร้อยละ 76.3 เป็นชายร้อยละ 23.7
           แรงงานนอกระบบเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นแรงงานสตรีที่ไม่มีหลักประกันทางสังคม และการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่า กระทรวง แรงงานได้มีการ ออกกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ.2547 เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิ ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในเรื่องการจ่าย ค่าตอบแทน แต่ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง สิทธิ แรงงาน และความปลอดภัยอื่น ๆ ซึ่งเป็น ประเด็นสำคัญที่สตรีกลุ่มนี้ ควรได้รับการสนับสนุน ต่อไป
           4.1 ระดับการศึกษาของแรงงานไทย
           สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจการมีงานทำของประชากร พ.ศ.2547 พบว่ แรงงานไทยทั้งชายและหญิงมีการศึกษา เฉลี่ยประมาณ 6 - 7 ปี ซึ่งเป็นแรงงานที่มีการศึกษาน้อย โดยเฉพาะแรงงานหญิงมีการศึกษา เฉลี่ยต่ำกว่าชาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก การพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จะส่งผลให้การศึกษา ของแรงงานไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไป
           4.2 กลไกที่เอื้อต่อการทำงานของสตรี
           ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สตรีไทยนอกจากจะเป็นแรงงานสำคัญและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ของครอบครัว และประเทศแล้ว สตรีไทยยังคงต้องรับหน้าที่สำคัญต่อการพัฒนาครอบครัว ความสำคัญของการเป็นเพศแม่ และบทบาทสำคัญของการ เป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงดูบุตร โดยเฉพาะการดูแลบุตรเล็ก ๆ ทั้งภาระการงานทาง เศรษฐกิจ และครอบครัวนี้เป็นสิ่งกดดันต่อสุขภาพของสตรี ดังนั้นเพื่อช่วยลดภาระและความกดดัน ในการทำงานให้สตรี รัฐควรสร้างกลไกที่เอื้อต่อการทำงานของสตรีไทย ดังนี้
                 1. การมีมาตรการอย่างจริงจังใน การสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสตรี สามารถให้นมบุตร ที่อยู่ในระยะการให้นม และการเลี้ยงดูบุตรในช่วงอายุ 3 ปีแรก
                 2. การมีมาตรการยืดหยุ่นในการเข้าทำงานของสตรีให้สอดคล้องกับการต้องรับภาระในการเลี้ยงดูบุตร