สตรีกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์
          สุขภาพของสตรีนั้น หมายถึงสุขภาพทางเพศ การตัดสินใจการเลือกสมรสอนามัย การเจริญพันธ์ ซึ่งเกี่ยวข้อง กับระบบมดลูก การตั้งครรภ์ การคลอด การติดเชื้อระบบสืบพันธ์
          ปัจจุบัน จากการพัฒนาประเทศและการรับกระแสโลกาภิวัฒน์ สตรีไทย มีโอกาสและมีสิทธิที่จะใช้ วิถีชีวิต ตนเองมากขึ้นจากสำมะโนประชากร และการเคหะ พ.ศ.2533 และ พ.ศ.2543 พบว่าประชาชนไทยมีการสมรส ช้าลง ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสำหรับผู้หญิงในปี 2533 มีอายุเฉลี่ยแรกสมรสที่ 23.9 ปี และมากขึ้นเป็น 24.3 ปี ในปี 2543 สตรีมีโอกาสในการเลือกคู่ครองได้ด้วยตนเองถึงร้อยละ 82.2เลือกที่จะกำหนดการมีบุตร และการสมรสได้ ด้วยตนเอง ทั้งนี้โดยพบว่าผู้หญิงไทยเลือกที่จะอยู่เป็นโสด เพิ่มขึ้น (สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว : 2548)
          จากการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และการขยายระดับคุณภาพทางการบริการสาธารณสุข อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งการประกันสุขภาพถ้วนหน้า การประกันสังคมทำให้สตรีไทยมีสุขภาวะ โดยรวมดีขึ้น สตรีมีอายุขัยยืนยาวกว่าชาย ซึ่งจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พบว่า สตรีไทยมีอายุขัย เฉลี่ย 73.0 ปี และผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ย 68.8 ปี  สตรีไทยส่วนใหญ่มีสิทธิ และได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์  ตลอดจนได้รับการดูแลดีขึ้น
          อัตราการตายของมารดาและทารกลดลง เนื่องมาจากสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.2 มีการฝากครรภ์ และคลอดกับเจ้าหน้าที่ ทางการแพทย์ครั้งทั้ง 4 ครั้งตามเกณฑ์ รวมทั้งมีการตรวจครรภ์หลังคลอดครบ 2 ครั้ง ตามเกณฑ์ ส่งผลให้อัตราการตายของมารดาหลังคลอดลดลง เหลือเพียง 12.9 คนต่อการเกิด 1,000 คน ในปี 2544
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสตรีไทยจะได้รับบริการสุขภาพอย่างดี แต่ยังเป็น ที่น่าสังเกตว่า ปัญหาที่สตรีไทยยัง ประสบอยู่ได้แก่ การมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสตรีมีการติดเชื้อเอดส์ เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อจากมารดาสู่ลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันการติดเชื้อจากมารดาสู่ลูกถือเป็นปัจจัยเสี่ยง อันดับสองของปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด นอกจากนี้รายงานของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ปี 2548 ระบุว่า ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี มีสตรีเป็นเอดส์มากกว่าชาย คือมีสตรีเป็นเอดส์ร้อยละ 55 โดยพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ของนักเรียนระดับมัธยมที่ศึกษาในปี 2547 มีนักเรียนชาย ที่มีเพศสัมพันธ์มีอัตราการใช้ถึงยางอนามัย เพียงร้อยละ 23.3 เท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อการที่สตรีวัยรุ่นเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การขาดความรู้ในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
          ในส่วนการวางแผนครอบครัว พบว่าสตรีส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้แบกรับภาระในการคุมกำเนิด โดยใช้วิธีการกินยาคุมกำเนิดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 26.8 ของวิธีการคุมกำเนิดทั้งหมด รองลงมาเป็นการทำหมันหญิงร้อยละ 22.6 ซึ่งวิธีการเหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงต่อสตรีได้ การคุมกำเนิดของฝ่ายชาย มีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น และจากการมี เพศสัมพันธ์ โดยการไม่คุมกำเนิดเหล่านี้เป็นผลให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหาต่อมาที่สตรีไทย ยังต้อง แบกรับคือการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ (การทำแท้ง) ซึ่งเป็นปัญหาที่สตรียังคงต้องรับภาระนี้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งในด้านความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิต และการถูกหยามเหยียดประณาม นับว่ายังคงเป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระหว่างหญิงชายในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัดอยู่