สตรีกับความรุนแรง
          สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทย นับว่ายังเป็นปัญหาสำคัญ และส่งผลกับสตรี และเด็กเป็นวงกว้าง และเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ในสถานศึกษา สถานที่ทำงาน และสถานการณ์ในสังคมทั่วไป รวมถึงความรุนแรง ที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ยังเกิดในลักษณะของการค้ามนุษย์ การข่มขืนกระทำชำเรา การคุกคามทางเพศ การบังคับการค้าประเวณี อันเนื่องมาจากการนำเสนอภาพลักษณ์ ของผู้หญิง ในทางลบ ของสื่อต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ป็นการสื่อในเรื่องทางเพศ (Sex object) ข้อมูลจากการประชุมการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กระดับนานาชาติ 26 ประเทศทั่วโลก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกันยายน 2549 ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศ ที่เผยแพร่ภาพลามก
อนาจารของเด็กและสตรีผ่านเว็บไซต์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก (จากการสำรวจของสถาบันจัดลำดับอินเตอร์เน็ต ที่น่าเชื่อถือ ที่รู้จักกันในนาม Internet Watch Foundation) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 51.1% อันดับที่ 2 รัสเซีย 14.9% อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น 14.9% อันดับ 4 สเปน 8.8% อันดับ 5 ไทย 3.6% อันดับ 6 เกาหลี 2.16 % อันดับ 7 อังกฤษ 0.2% ประเทศอื่น ๆ อีก 7.5% (มติชน วันที่ 4 ตุลาคม 2549)
          นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว สตรีและเด็กทั้งชาวพุทธ
และอิสลามต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรง อันส่งผลถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทรัพย์สิน สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ การละเมิดสิทธิรวมทั้งการตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ทั้งทางร่างกายและบาดแผลทางจิตใจ
          สำหรับในปี 2549 ข้อมูลจากโรงพยาบาลจำนวน 91 แห่ง ในสังกัดกรมอนามัย กรมการแพทย์ กระทรวงกลาโหม และ โรงพยาบาลในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนผู้ขอรับบริการทั้งสิ้นจำนวน 14,382 ราย จำแนกเป็นเด็กอายุระหว่างแรกเกิดถึง 18 ปี จำนวน 7,164 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.19 ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนที่รู้จักและมีความใกล้ชิด โดยสามีเป็นผู้ กระทำร้อยละ 26.26 สมาชิกในครอบครัวร้อยละ 14.27 พ่อ/แม่ และพ่อเลี้ยง และแม่เลี้ยงร้อยละ 3.30 และ 2.11 ตามลำดับ
          สาเหตุของความรุนแรง
          สาเหตุของการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็กร้อยละ 28.79 เกิดจากสาเหตุการเมาสุรา และติดสารเสพติด การนอกใจ หึงหวง และทะเลาะวิวาทร้อยละ 24.04 และกฎหมายบางเรื่องยังเปิดช่องว่าง ให้มีการกระทำรุนแรงในครอบครัว เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 276 ใช้ถ้อยคำว่า "ผู้ใดข่มขืนหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน" มีผลให้สามีข่มขืนภรรยาได้โดยไม่มีความผิด
          2. ความรุนแรงในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา
          ผลวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กเยาวชน 150,000 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งในระดับ ทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. ตกอยู่ในวัฎจักร ของการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ประมาณ 1 ใน 10 หรือประมาณ 700,000 คน จากจำนวนนักเรียนในระดับมัธยม ศึกษา ปวช. และ ปวส. ผลวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนไม่ใช่ ปัญหาใหม่ ของสังคมไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนนั้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเด็กได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นความเจ็บปวด จากการแตกร้าวของครอบครัว การหย่าร้างของบิดามารดารวมทั้งการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความรุนแรงทั้งรูป ของการละเล่น (games) ภาพยนตร์ ข่าว และภาษาที่ใช้ทั้งการใช้คำพูด หรือภาษาหนังสือ
          3. เหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ การทำร้าย การฆาตกรรม การก่อการร้าย การลงทัณฑ์ ทรมาน ข่มขืน การละเมิดทางเพศ การละเมิดสิทธิ และการก่อเหตุไม่สงบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐาน ของกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งการละเมิดสิทธิดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชายในรูปแบบแตกต่างกัน ความรุนแรงดังกล่าว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจากการสูญเสียทรัพย์สินบ้านช่อง และญาติพี่น้อง ในบางครั้งเป็นการซ้ำเติมปัญหาสตรี และเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวยากจน หรือครอบครัวที่มีสตรีรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องรับภาระอบรมเลี้ยงดูลูก รวมทั้งประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ กับค่าใช้จ่ายในครอบครัวทำให้สตรีเหล่านี้ต้องตกอยู่ในสภาพที่แย่ไปกว่าเดิม ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของสมาชิกในครอบครัว และบางครอบครัวไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างที่เคยทำมาได้ มีผลทำให้ครอบครัวที่ทุกข์ยากอยู่แล้ว มีความลำบากยากจนยิ่งขึ้นไปอีก
          นอกจากนี้แล้วความขัดแย้ง ที่มีการใช้อาวุธยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การสร้างบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้น และคงอยู่ไปจนชั่วชีวิต ปัญหาความรุนแรงจากการขัดแย้ง ที่มีการใช้อาวุธที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่
          3.1 กลุ่มคนไร้สัญชาติ
          การหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และการหนีตายของพลเมืองจากประเทศพม่า มายังประเทศไทย มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) ได้ประมาณการตั้งตัวเลขของผู้อพยพที่เพิ่มสูงกว่าตัวเลขของทางการไทย หลังจากเดือนมีนาคม 2539 อันเป็นปีที่รัฐบาล ทหารพม่า เริ่มนโยบายการอพยพโยกย้ายชาวบ้าน ในตอนกลางวันของรัฐไทใหญ่ มีชาวไทใหญ่ไม่น้อยกว่า 8,000 ถึง 15,000 คน หนีตายเข้ามาในไทย ซึ่ง 47% ของชาวบ้านเหล่านี้มีอายุอยู่ระหว่าง 17 ปีหรือต่ำกว่านั้น และ 45 ปี หรือสูงกว่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การอพยพดังกล่าว เป็นการหนีมาของทั้งครอบครัว ไม่ใช่การอพยพมาหางานทำแบบปกติ แต่ได้กลายเป็นที่ของอัตลักษณ์ถาวร ของการเป็นแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการหรือการยอมรับใด ๆ ในสังคม
          รัฐบาลไทยได้จัดศูนย์รับผู้อพยพ 9 แห่ง เพื่อรองรับผู้อพยพรวมทั้งสิ้น 131,217 คน แบ่งเป็นชาย 67,147 คน และหญิง 64,070 คน ซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติและการขาดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อยู่มาก
          3.2 เหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
          เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กอย่างรุนแรง จากการตกเป็นเหยื่อฆาตรกรรม การบาดเจ็บ และการสูญเสียผู้เป็นที่รัก การต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวโดยไม่คาดคิด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสตรีรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องรับภาระอบรมเลี้ยงดูลูก รวมทั้งต้องประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของสมาชิกในครอบครัว และบางครอบครัวไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างที่เคยทำมาได้ มีผลทำให้ครอบครัวที่ทุกข์ยากอยู่แล้ว มีความลำบากยากจนยิ่งขึ้นไปอีก
          เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต และการบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมาก จากรายงานเหตุการณ์ ความไม่สงบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ระหว่างปี 2547-2548 ก่อให้เกิดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวน 1,706 ราย
          ซึ่งผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีเป็นอย่างมาก จากข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2550) มีเด็กกำพร้าทั้งบิดามารดา จำนวนทั้งสิ้น 1,425 คน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสตรีหม้าย ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 743 คน
          ในสถานการณ์ความขัดแย้ง สภาพทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อันประกอบไปด้วย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด นักวิชาการ นักสันติวิธี ทนายความ ครู พระสงฆ์ องค์กร พัฒนาเอกชน องค์กรประชาธิปไตย และนักธุรกิจ ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง จำนวน 8 คน จาก 49 คน คิดเป็นร้อยละ 16.33 จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการ ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก สตรี และเยาวชน โดยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักการเมือง สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้นั้นที่สำคัญคือ เสนอแนะนโยบายมาตรการ กลไก และวิธีการสร้างสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทยโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างความยุติธรรม ลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายขจัดเงื่อนไข และป้องกันปัญหาความรุนแรง และสร้างความ สามัคคีธรรม ให้เกิดขึ้นในชาติ
          4. ความก้าวหน้าการยุติความรุนแรงต่อสตรี

          การให้สัตยาบันอนุสัญญาเรื่องการค้ามนุษย์ และการขายมนุษย์ให้เป็นทาสที่ประเทศไทย เป็นภาคีมีหลายฉบับ เช่น อนุสัญญา ว่าด้วยการปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก (ค.ศ.1921) อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการค้าบุคคล และการแสวงประโยชน์ จากการค้าประเวณีของผู้อื่น (ค.ศ.1933) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏฺบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (ค.ศ.1997) ฯลฯ

          นโยบายและแผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาธุรกิจบริการทางเพศ พ.ศ.2539
          คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และโครงการริบบิ้นสีขาวที่รณรงค์ให้ผู้ชาย และกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในการขจัดความรุนแรง
          คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2543 เห็นชอบนโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
          นโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี หรือการให้บริการในรูปแบบศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรี ในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง (One Stop Crisis Center:OSCC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาล
          กฎหมายที่ต่อต้านความรุนแรงทางเพศ เช่น พ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามการค้าประเวณี (พ.ศ.2539) พ.ร.บ. มาตรการในการ ป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก (พ.ศ.2540)
          พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22 พ.ศ.2547 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ความติดต่อเสรีภาพ
          5. แนวทางการยุติความรุนแรงต่อสตรี
          1. การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการทางกฎหมาย เช่น การเพิ่มโทษ และการฝึกอบรมตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ อัยการ ผู้พิพากษา ให้มีความเข้าใจในเรื่องความรุนแรง เข้าใจปัญหา รวมทั้งวิธีการให้ความยุติธรรม กับผู้ที่ถูกกระทำ
          2. การให้ข้อมูลข้อสนเทศแก่ประชาชนเกี่ยวกับหน่วยงาน ที่จะติดต่อเมื่อมีการกระทำรุนแรง
          3. ดำเนินการให้มีแผนระดับชาติ และกลไกการประสานงาน และดำเนินงานให้ได้ผลแะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
          4. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว โดยให้ความรู้เรื่องครอบครัวศึกษา สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก วิธีการแก้ความขัดแย้ง โดยไม่ใช้ความรุนแรง และการดำรงชีวิตตามหลักศาสนา เพื่อสร้างความตระหนักในสิทธิของตนเองและผู้อื่น
          5. สนับสนุนให้มีการทำงานจัดการปัญหาด้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นประเด็นที่ทำงาน ให้ต่อเนื่อง ทั้งภาคธุรกิจองค์กรเอกชนอื่น ๆ สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และรายการวิทยุ