สตรีกับการศึกษาและการฝึกอบรม |
ผลจากการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 มีผลให้ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้รับการพัฒนา และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งชายและหญิง สามารถเข้าถึงการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาต่อเนื่อง หรือการศึกษาตามอัธยาศัยได้ อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ระบุให้การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคล มีสิทธิ และโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่าง ทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และจากพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 บังคับให้บิดา มารดาหรือผู้ปกครองที่มีเด็กที่มีอายุอย่างเข้าปีที่ 6 ทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี มีผล ให้เด็กชาย และเด็กหญิง มีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งนับว่า เป็นการ ขจัดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ในการศึกษาได้บรรลุตามข้อตกลง และตามเป้าหมาย แห่งสหัสวรรษ ของประเทศไทย พ.ศ.254 |
|
|
นอกจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว ในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย นับว่าสตรีได้รับโอกาส ในการเข้าถึงการศึกษาอย่างมาก จากสำมะโนประชากร และการเคหะ พ.ศ.2548 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) พบว่า มีนักศึกษาหญิงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งสายสามัญ และสายอาชีวศึกษาจำนวนมากกว่า
นักศึกษาชายคิดเป็นร้อยละ 52.56 และ 52.37 ตามลำดับ ของนักศึกษาทั้งหมด นอกจากนี้ในการเลือกการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ของทั้งหญิงและชาย ได้เปิดโอกาส ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกเรียนสาขาวิชา ได้เท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมการเลือกศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ เป็นไปตามค่านิยมดั้งเดิม ของสังคมไทยที่คาดหวัง ให้หญิงและชายควรเรียนสาขาที่เหมาะสม กับบทบาททางเพศของหญิงชายดั้งเดิม |
|
นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน ที่ให้เฉพาะนักเรียนชายสามารถสมัครเข้าเรียนวิชาทหารได้นั้น ข้อมูลจากกรมการรักษาดินแดน ปี 2549 พบว่า มีนักเรียนหญิงสามารถสมัครเข้ารับการฝึกเป็นนักศึกษาวิชาทหาร ร้อยละ 12.36 ของนักศึกษาวิชาทหารทั่วประเทศทั้งหมด (นักศึกษาวิชาทหารชาย จำนวน 271,723 นาย นักศึกษาวิชาทหารหญิง จำนวน 38,355 นาย) |
|
ส่วนการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป พบว่ามีจำนวนนักศึกษาหญิงที่สำเร็จการศึกษา จำนวนมากกว่านักศึกษาชาย โดยมีนักศึกษาหญิง สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก คิดเป็นร้อยละ 52.3, 51.75 และร้อยละ 53.40 ของผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามลำดับ |
ส่วนในของการศึกษาต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมให้สตรี ที่ไม่มีโอกาส ได้รับการศึกษาในระบบ โรงเรียน โดยเฉพาะสตรีในชนบท หรือสตรียากจนได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ หรือได้รับการฝึกอบรม ต่าง ๆ
อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเป็นผลให้สตรีในชนบทได้มีการศึกษา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีหน่วยงาน
ภาครัฐต่าง ๆ ได้จัดทำโครงการ เพื่อการฝึกอบรมสตรีทั้งด้านอาชีพ และการเรียนรู้อื่น ๆ |
|
การออกเรียนกลางคัน |
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาสในการศึกษา ระหว่างหญิงชายแล้วก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญ ประการหนึ่งของการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงไทยที่ยังคงต้องได้รับการแก้ไข และให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ประเด็นที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในวัยเรียนไม่ว่า จะโดยสาเหตุใดก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่เหล่านี้ จะต้องออกจากการศึกษากลางคัน โดยยังไม่สำเร็จ การศึกษาในระดับที่ตั้งไว้ จึงมีระยะการศึกษาเล่าเรียนสั้น เพราะมีการตั้งครรภ์เสียก่อน ทำให้ไม่สามารถเรียนจบ หรือมีทักษะในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งเป็นผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ขาดความก้าวหน้าทางการศึกษา และขาดโอกาสในการศึกษาหาความรู้ ในการประกอบอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงดูบุตรต่อไป โดยเฉพาะประเทศไทย กรณีที่วัยรุ่นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรก่อน อายุ 20 ปี พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขาดทักษะความรู้เพื่อชีวิต และการประกอบอาชีพจึงมีน้อย มีโอกาสจำกัดในการมีงานทำ และขาดรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาความพร้อมในการทำหน้าที่ในบทบาทพ่อแม่ และปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมาอีก |
และจากรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมารดาวัยรุ่นหลายเรื่องพบว่า มารดาวัยรุ่นส่วนใหญ่มีการศึกษา ในระดับประถมศึกษา ระยะเวลาของการศึกษาของชีวิตมีน้อย ทำให้ขาดความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และกาาคุมกำเนิด ขาดวุฒิภาวะ และทักษะในการ ประกอบอาชีพ ด้วยเหตุนี้ ปัญหาโอกาสในการได้รับการศึกษาต่อของวัยรุ่นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยไม่พร้อมเหล่านี้ ควรได้รับการแก้ไข ให้กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนต่อในระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความรู้และให้มีทักษะในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น อันจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ ของสตรีให้เข้มแข็ง และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้อย่างมีคุณภาพ |
|