รายงานสถานการณ์สตรี ปี 2554 เจตคติ : ความเสมอภาคหญิงชายในสังคมไทย |
รายงานสถานการณ์สตรี ปี 2554 เจตคติ : ความเสมอภาคหญิงชายในสังคมไทย เป็นการนำข้อมูลการสำรวจร้อยละของประชาชนที่มีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับความเสมอภาคและบทบาทหญิงชาย ในเรื่องเจตคติที่ดีต่อผู้หญิงด้านความเสมอภาคและบทบาทหญิงชายโดยทั่วไป ด้านครอบครัว ด้านการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชุมชนและในทางการเมือง และด้านการเป็นผู้นำหรือผู้บริหารและอาชีพ/การจ้าง ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ |
|
ลักษณะทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง
การสำรวจเจตคติที่ดีเกี่ยวกับความเสมอภาคและบทบาทหญิงชาย เป็นการสำรวจประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ (76 จังหวัด) โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 8,281 คน ในอัตราส่วนเพศชายและหญิงใกล้เคียงกัน กลุ่มตัวอย่างแบ่งตามช่วงอายุ คือ อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 19.9 อายุ 25-39 ปี ร้อยละ 32.9 อายุ 40-54 ปี ร้อยละ 29.9 และอายุ 55 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.3 สถานภาพสมรสแบ่งเป็น โสด ร้อยละ 34.5 สมรส ร้อยละ 62.7 ที่เหลือเป็นหม้ายและหย่าร้าง
กลุ่มตัวอย่างมีการศึกษา จำแนกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.5 ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 32.0 และระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ร้อยละ 30.6 โดยมีอาชีพหลากหลาย ได้แก่ ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.9 พนักงานบริษัท/หน่วยงานเอกชน ร้อยละ 14.3 ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระ หรือเป็นเจ้าของ/ประกอบการ ร้อยละ 20.0 เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้าน ร้อยละ 6.3 เป็นนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ร้อยละ 2.9 |
|
การสำรวจเจตคติที่ดีเกี่ยวกับความเสมอภาคและบทบาทหญิงชาย ประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้ |
|
(1) เจตคติด้านความเสมอภาคและบทบาทหญิงชายโดยทั่วไป |
เป็นการสำรวจความคิดเห็นทั่วๆ ไป ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย
จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เคยได้ยินเคยได้ยินเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องความเสมอภาคหญิงชาย เห็นด้วยว่าการจัดสรรงบประมาณแก่โครงการต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงโอกาสที่ประชาชนทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน และส่วนใหญ่ยังเห็นว่านโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความเสมอภาค
และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ปรัชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายไม่ใช่ปัญหาที่ควรต้องแก้ไขเร่งด่วน |
|
(2) เจตคติด้านความเสมอภาคและบทบาทหญิงชายในครอบครัว |
เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของทั้งหญิงและชายในครอบครัวต่อการทำงานบ้าน การดูแลสมาชิกในครอบครัว
อำนาจและการตัดสินใจของสามีและภรรยาต่อการย้ายถิ่นและการประกอบอาชีพ จากการสำรวจพบว่า การทำงานบ้านหรือดูแลครอบครัว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่าการดูแลบ้าน ครอบครัวและลูกๆ ต้องเป็นหน้าที่ของผุ้หญิงฝ่ายเดียว ลูกชายควรมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านด้วย
อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนหนึ่งยังคงเห็นว่าการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายรับผิดชอบทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตรมากกว่าผู้ชาย ยังไม่ถือว่าผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิง สำหรับการตัดสินใจที่สำคัญของครอบครัวในเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่และการใช้เงินออมฯ เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ
ประชาชนไม่เห็นด้วยว่าควรขึ้นอยู่กับความจำเป็นและการเลือกของสามีมากกว่าของภรรยา |
(3) เจตคติด้านการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชุมชนและในทางการเมือง |
เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้หญิง
ทั้งเรื่องในชุมชนและทางการเมือง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่าไม่ควรสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชนมากขึ้นเพราะจะขาดคนดูแลบ้านและครอบครัว
ไม่เห็นด้วยว่าสาเหตุที่ผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะผู้หญิงมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย ไม่เห็นด้วยว่าถ้าในรัฐสภามี ส.ส. และ ส.ว. หญิงจำนวนมากจะยิ่งทำให้การตัดสินใจและการทำงานทางการเมืองล่าช้า เพราะผู้หญิงเน้นรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป
อย่างไรก็ตามมีประชาชนบางส่วนที่ยังเห็นว่า ผู้ชายมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาปากท้อง (ปัญหาเศรษฐกิจ) ของชาวบ้านมากกว่าผู้หญิง |
(4) เจตคติด้านการเป็นผู้นำ/ผู้บริหารและอาชีพ/การจ้างงาน |
เป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อผู้หญิงเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ ผู้บริหาร และการจ้างงาน
ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนเกือบครึ่งยังคงเห็นว่าผู้ชายมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำได้ดีกว่าผู้หญิงและยังคงเห็นว่าผู้หญิงไม่สามารถอุทิศตนให้แก่งานได้เท่าเทียมกับผู้ชาย นอกจากนี้ ยังคงเห็นว่า
ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการหยุดงานหรือขาดงานมากกว่าผู้ชายด้วย อย่างไรก็ตาม ในด้านการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าผู้หญิงสามารถเป้นผู้นำได้ดีเท่ากับผู้ชายได้ และมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารได้เท่าเทียมกับผู้ชายได้ |
|
|